.

.

วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ความรู้ทั่วไปการจัดตั้งบริษัทใน 7 ขั้นตอน



ผู้ประกอบการมือใหม่หลายๆคน มักคิดว่าการดำเนินการจัดตั้งบริษัทด้วยตนเองนั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและยุ่งยากเกินความสามารถ จึงเลือกที่จะไปว่าจ้างบริษัทหรือบุคคลที่มีความรู้เฉพาะทางมาดำเนินการแทน ทั้งที่จริงๆแล้วขั้นตอนการจัดตั้งบริษัทนั้นก็ไม่ได้มีวิธีที่ซับซ้อนแต่อย่างใด และถ้าหากท่านสามารถดำเนินการเองได้ก็จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในส่วนของการว่าจ้างไปได้อีกด้วย การจัดตั้งบริษัทจะไม่เป็นเรื่องยากอีกต่อไปหากปฏิบัติตาม 7 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้

หลังจากวันที่ 1 กรกฎาคม 2551 ผู้เริ่มก่อการสามารถจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทพร้อมกันภายในวันเดียวกันได้
ขั้นแรกผู้เริ่มก่อการจัดตั้งบริษัทต้องคิดชื่อบริษัทขึ้นมาเพื่อใช้ในการจอง ซึ่งชื่อที่ตั้งมานั้นต้องไม่พ้องหรือคล้ายคลึงกับบริษัทซึ่งจดทะเบียนไปแล้ว
การจองนั้นจะเปิดให้จองได้ 3 ชื่อ โดยนายทะเบียนจะพิจารณาชื่อตามลำดับจากแรกไปท้าย ดังนั้นท่านต้องเอาชื่อที่อยากได้ที่สุดไว้อันดับแรก จากนั้นก็ไปลงทะเบียนจองชื่อ โดยทำได้สองวิธีด้วยกัน คือ
  1. ยื่นแบบจองชื่อต่อนายทะเบียนด้วยตนเอง ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในเขตที่ท่านอาศัยอยู่ หรือถ้าเป็นต่างจังหวัดก็ให้ไปที่สำนักงานพาณิชย์ประจำจังหวัด
  2. จองผ่านอินเตอร์เน็ต โดยกรอกข้อมูลที่ www.dbd.go.th ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเอง
เมื่อนายทะเบียนพิจารณาแล้วเห็นว่าชื่อดังกล่าวไม่ขัดกับข้อกำหนด ก็จะแจ้งกลับมาว่ารับจองชื่อแล้ว จากนั้นก็จะเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป

หนังสือบริคณห์สนธิ คือ หนังสือที่แสดงเจตน์จำนงในการขอจัดตั้งบริษัท เนื้อความในหนังสือจะประกอบไปด้วย ชื่อบริษัทที่จองไว้ (โดยมีคำว่า “บริษัท” นำหน้า และคำว่า “จำกัด” ต่อท้าย) ที่อยู่ วัตถุประสงค์ จำนวนทุน จำนวนหุ้น ราคาหุ้น (ขั้นต่ำหุ้นละ 5 บาท) และข้อมูลผู้เริ่มก่อการจัดตั้งบริษัท ซึ่งจำนวนผู้ก่อการนี้กฎหมายบังคับว่าต้องมีอย่างน้อย 3 คน
การยื่นหนังสือบริคณห์สนธิจะต้องทำภายใน 30 วัน นับจากวันที่มีนายทะเบียนแจ้งรับจองชื่อ หากผู้เริ่มก่อการเกิดชะล่าใจจนเลยกำหนดก็จะต้องเสียเวลาดำเนินการใหม่ตั้งแต่ต้น

ผู้เริ่มก่อการแต่ละคนอาจซื้อหุ้นมากน้อยต่างกัน แต่ทุกคนจะต้องมีอย่างน้อยคนละหนึ่งหุ้น นอกจากนี้ผู้ที่มาซื้อหุ้นนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เริ่มก่อการเสมอไป แต่อาจเป็นบุคคลอื่นที่สนใจอยากเข้าร่วมธุรกิจดังกล่าวก็ได้ 
เมื่อมีผู้ตกลงซื้อหุ้นของบริษัทจนครบแล้ว ก็จะมีการออกหนังสือนัดจัดการประชุมผู้ถือหุ้นทั้งหมด ซึ่งวันที่นัดประชุมนั้นจะต้องห่างจากวันที่ออกหนังสืออย่างน้อย 7 วัน

หากดำเนินการด้วยตนเองก็จะยิ่งใช้เวลาน้อยลงไปอีกเพราะไม่ต้องเสียเวลาติดต่อประสานงานกับบริษัทว่าจ้างจัดตั้งบริษัท
ในการประชุมจะต้องมีผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้เข้าชื่อทั้งหมด (สามารถมอบฉันทะได้) และนับจำนวนหุ้นรวมกันแล้วไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของหุ้นทั้งหมด ซึ่งวาระในการประชุมจะประกอบด้วย
  1. ทำความตกลงตั้งข้อบังคับของบริษัท
  2. เลือกตั้งกรรมการและกำหนดอำนาจกรรมการ
  3. เลือกผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเพื่อตรวจสอบและรับรองงบการเงิน (บริษัทต้องแต่งตั้งบุคคลธรรมดาเท่านั้น จะแต่งตั้งสำนักงานตรวจสอบบัญชีไม่ได้)
  4. รับรองสัญญาที่ผู้เริมก่อการทำขึ้นก่อนที่บริษัทจะจัดตั้ง เพราะผู้ริเริ่มกิจการอาจจะไปทำสัญญาอะไรบางอย่างไว้เพื่อประโยชน์ของบริษัท เช่น ไปทำสัญญาเช่าอาคารไว้เพื่อไว้เป็นที่ทำการของบริษัท หรือไปทำสัญญาซื้อวัตถุดิบ หรือจ้างพนักงานไว้ สัญญาเหล่านี้จะยังไม่มีผลผูกพันบริษัท เนื่องจากบริษัทยังไม่ได้จัดตั้ง ผู้ริเริ่มกิจการยังต้องรับผิดชอบเป็นส่วนตัวอยู่ ดังนั้นจึงต้องนำสัญญาเหล่านี้มาเสนอให้ที่ประชุมตั้งบริษัทอนุมัติ เพื่อจะได้มีผลผูกพันต่อไป
  5. กำหนดค่าตอบแทนแก่ผู้ริเริ่มกิจการ สำหรับกิจการต่างๆ ที่ผู้เริ่มก่อการได้กระทำไปในช่วงก่อนจดทะเบียนบริษัท โดยถือว่าเป็นค่าตอบแทนค่าเหนื่อยของผู้เริ่มก่อการ ซึ่งค่าตอบแทนนี้จะต้องอนุมัติโดยที่ประชุมจัดตั้งบริษัท
  6. กำหนดจำนวนหุ้นบุริมสิทธิ (หุ้นที่ได้รับสิทธิพิเศษมากกว่าหุ้นสามัญ เช่น ได้ปันผลมากกว่า หรือหากเลิกกิจการก็จะมีสิทธิได้ทรัพย์สินก่อน แต่ผู้ถือหุ้นประเภทนี้จะไม่มีสิทธิในการออกเสียงหรือรับแต่งตั้งเป็นกรรมการบริษัท) หรือหุ้นสามัญที่ชำระด้วยอย่างอื่นนอกจากตัวเงิน บางบริษัทอาจจะมีหุ้นบุริมสิทธินอกเหนือจากหุ้นสามัญ หรืออาจจะมีหุ้นสามัญแต่เพียงอย่างเดียว แต่มีบางส่วนที่ชำระด้วยอย่างอื่นนอกจากตัวเงิน ในกรณีเช่นนี้ก็ต้องมาทำความตกลงอนุมัติในที่ประชุมตั้งบริษัทนี้เช่นกัน


คณะกรรมการจะทำหน้าที่เก็บเงินชำระค่าหุ้นอย่างน้อย 25% ของราคาจริง เมื่อเก็บค่าหุ้นได้ครบแล้ว กรรมการก็จะเป็นผู้จัดทำคำขอจดทะเบียนตั้งบริษัทแล้วยื่นจดทะเบียนต่อนายทะเบียนภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่มีการประชุมจัดตั้งบริษัท ถ้าไม่จดทะเบียนภายในกำหนดเวลาดังกล่าวจะทำให้การประชุมตั้งบริษัทเสียไป ต้องจัดประชุมผู้จองซื้อหุ้นใหม่อีกครั้ง

ค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนตั้งบริษัท คิดตามทุนจดทะเบียนแสนละ 500 บาท ขั้นต่ำ 5,000 แต่ไม่เกิน 250,000
ค่าธรรมเนียมต่างๆในขั้นตอนการดำเนินการมีดังนี้
  1. ค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ คิดจากจำนวนทุนแสนละ 50 บาท เศษของแสนให้คิดเป็นแสนบาทเลย ทั้งนี้ค่าธรรมเนียมขั้นต่ำอยู่ที่ 500 บาท และขั้นสูงคือ 25,000 บาท
  2. ค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนตั้งบริษัท คิดตามทุนจดทะเบียนแสนละ 500 บาท แต่ขั้นต่ำต้องไม่น้อยกว่า 5,000 บาท และขั้นสูงไม่เกิน 250,000 บาท (เศษของแสนคิดเป็นแสนเช่นเดียวกับค่าลงทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ)
  3. หนังสือรับรอง ฉบับละ 200 บาท
  4. ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน ฉบับละ 100 บาท
  5. รับรองสำเนาเอกสาร หน้าละ 50 บาท
  6. รับใบสำคัญและหนังสือรับรอง
เมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียนและมอบหนังสือรับรองแล้ว ก็เป็นอันว่าบริษัทได้จัดตั้งขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีสิทธิและหน้าที่ต่างๆ โดยสมบูรณ์ทุกประการ
เดิมขั้นตอนการดำเนินการทั้งหมดจะกินเวลาไม่ต่ำกว่า 9 วัน แต่หลังจากวันที่ 1 กรกฎาคม 2551 เป็นต้นมา กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ปรับปรุงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วนบริษัทในบางประเด็น ว่า ‘หากการประชุมตั้งบริษัทมีผู้เริ่มก่อการและผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นทุกคนเข้าร่วมประชุมและให้ความเห็นชอบในกิจการที่ได้พิจารณาในที่ประชุมนั้น ผู้เริ่มก่อการสามารถจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทพร้อมกันภายในวันเดียวกันได้’
จากการปรับปรุงกฎหมายที่ว่า ทำให้การดำเนินการมีความสะดวกและรวดเร็วขึ้น และถ้าหากดำเนินการด้วยตนเองก็จะยิ่งใช้เวลาน้อยลงไปอีกเพราะไม่ต้องเสียเวลาติดต่อประสานงานกับบริษัทว่าจ้างจัดตั้งบริษัท อ่านมาถึงตรงนี้แล้วก็อย่าลืมลองนำ 7 ขั้นตอนนี้ไปใช้เพื่อช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งบริษัทของคุณดู

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น